
KPI คืออะไร? พร้อมวิธีตั้งให้สอดคล้องกับการทำงานยุค New Normal
การตั้ง KPI คือ หนึ่งในแนวทางการประเมินความสำเร็จที่หลายองค์กรนำมาปรับใช้ เพื่อวัดความก้าวหน้า และวิถีการดำเนินงานขององค์กรว่าเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ โดยการตั้ง KPI สามารถกำหนดได้หลากหลายวิธีแต่จะมีวิธีอะไรบ้าง อ่านต่อได้ในบทความนี้
KPI คืออะไร หาคำตอบก่อนวัดความสำเร็จ
KPI: Key Performance Indicators คือ ดัชนีที่บ่งชี้ความสำเร็จ โดยสามารถวัดได้ผ่านการประมวลผลออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพและแนวทางการดำเนินงานขององค์กรว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ผ่านสามหัวใจหลักดังนี้
- Key: เป้าหมายหลัก
- Performance: ประสิทธิภาพ
- Indicators: ตัวชี้วัด
โดยแนวทางการกำหนด KPI สามารถแบ่งได้หลายระดับ ทั้งภาพรวมในระดับองค์กรไปจนถึงการตั้ง KPI ให้กับระดับปฏิบัติการ ซึ่งในแต่ละระดับจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น การตั้ง KPI ด้านยอดขายกับฝ่ายขาย หรือการตั้ง KPI ด้านการเพิ่มผลผลิตกับฝ่ายผลิตสินค้า เป็นต้น

ประเภทของ KPI
KPI สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ประเภทที่วัดผลชัดเจน มีตัวเลขแสดงค่าตามหลักสถิติ และประเภทที่วัดผลทางอ้อม ซึ่งไม่มีตัวเลขชัดเจนแต่จะวัดผ่านการประเมินจากความพึงพอใจ โดยทั้งสองประเภทมีรายละเอียดดังนี้
- ประเภทวัดผลชัดเจน: KPI ทางตรง เป็นแนวทางการวัดผลผ่านสถิติ สามารถตรวจสอบที่มาของตัวเลขได้ เช่น จำนวนการขาด-ลา หรือจำนวนการผลิตสินค้า เป็นต้น
- ประเภทวัดผลทางอ้อม: KPI ทางอ้อม เป็นแนวทางการวัดผลผ่านภาพรวม ไม่สามารถตรวจสอบเป็นตัวเลขได้ เช่น พฤติกรรมการทำงาน หรือความรู้ความสามารถในการทำงาน เป็นต้น
วิธีการตั้ง KPI เพื่อนำองค์กรสู่ความสำเร็จ
สิ่งที่สำคัญของการตั้ง KPI คือ การกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่ชัดเจน เพื่อหากุญแจหลักสู่ความสำเร็จ (Key) จากนั้นจึงค้นหาว่าปัจจัยอะไรที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย และจะสามารถวัดความสำเร็จนั้นได้อย่างไร โดยตัวอย่างแนวทางการตั้ง KPI มีขั้นตอนดังนี้
ตั้งคำถาม ค้นหาความต้องการ พิจารณาผลลัพธ์ที่อยากได้จากการตั้ง KPI เช่น ต้องการยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น 50% เป็นต้น
วิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ต้องการว่าคุ้มค่าต่อการเป็นเป้าหมายไหม เพื่อค้นหาเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดในการตั้งเป็น KPI หลักขององค์กร
หลังจากตกผลึกด้วยการวิเคราะห์แล้ว ต่อมาคือการกำหนดวัถตุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อค้นหากระบวนการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
กำหนดปัจจัยความสำเร็จที่จะพาองค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ เช่น ปัจจัยในเชิงปริมาณอย่างจำนวนการผลิต หรือปัจจัยในเชิงคุณภาพอย่างความพึงพอใจของลูกค้า เป็นต้น
กำหนดดัชนีชี้วัดเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินความสำเร็จ ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ผู้คนในองค์กรยอมรับและสามารถดำเนินงานตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้จริง

แนวทางการตั้ง KPI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แนวทางการตั้ง KPI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การผลักดันให้ KPI ประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคงและทำได้จริง โดยมีแนวทางดังนี้
- KPI ต้องมีความชัดเจน วัดผลได้จริง ทุกฝ่ายในองค์กรต้องเข้าใจ KPI และควรมีการประชุมก่อนตั้ง KPI เพื่อค้นหาจุดร่วมในการตั้งเป้าหมายด้วยกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า KPI ที่องค์กรประกาศนั้นมีประโยชน์ และเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าในการปฏิบัติตาม
- กำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสม โดยกำหนดให้สัมพันธ์กับเป้าหมาย ไม่เร่งรีบจนปฏิบัติจริงไม่ได้ และไม่ช้าจนบรรลุ KPI ได้ง่ายเกินไป
- สร้างแรงจูงใจผ่าน KPI ด้วยการกำหนด KPI ที่ท้าทายแต่ทำได้จริง เพิ่มกติกาและผลตอบแทนที่พนักงานจะได้รับหากสามารถบรรลุ KPI ได้สำเร็จ
การตั้ง KPI ให้สอดคล้องกับการทำงานในยุค New Normal
สำหรับการทำงานในยุค New Normal ที่แนวทางการทำงานปรับเปลี่ยนตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ดังนั้น แนวทางการตั้ง KPI จึงควรปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อให้เป้าหมายของ KPI สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเป้าหมายที่ทำตามไม่ได้ โดยแนวทางการตั้ง KPI ให้สอดคล้องกับยุค New Normal มีดังนี้
- ระบุขอบเขตในการวัดผล
เนื่องจากการทำงานในยุค New Normal หลายองค์กรเริ่มใช้แนวทางการทำงานแบบ Remote Work ดังนั้น ดัชนีการวัดผลบางประเภทอาจวัดผลได้ยากลำบาก เช่น พฤติกรรมการทำงาน หรือการวัดผลในเชิงคุณภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายขอบเขตที่สามารถวัดผลได้แม้ไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ ยกตัวอย่างเช่น
- ดัชนีการวัดผลเชิงปริมาณ: Quantitative Indicators คือ การวัดผลจากตัวเลขเท่านั้น เช่น ปริมาณการผลิตชิ้นงานจากเครื่องจักร หรือจำนวนลูกค้าในแต่ละเดือน เป็นต้น
- ดัชนีการวัดเชิงคุณภาพ: Qualitative Indicators คือ การวัดผลลัพธ์จากความพึงพอใจ ทั้งลูกค้าและพนักงาน รวมถึงเสียงตอบรับจากผลงาน เพื่อสะท้อนให้เห็นคุณภาพของชิ้นงาน
- ดัชนีการวัดผลทางการเงิน: Financial Indicators คือ การวัดผลจากการเติบโตทางธุรกิจ เช่น ค่า ROI (Return on investment), ROE (Return on equity) และอัตราส่วนทรัพย์สินของบริษัท เป็นต้น

- กำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานความเป็นไปได้ในการวัดผล
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ยุค New Normal มีหลายเป้าหมายที่มีความคลุมเครือและวัดผลได้ยาก ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายบนความเป็นได้จึงสำคัญ ซึ่งสามารถยึดตามหลัก SMART KPI ได้เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดเป้าหมาย โดย SMART KPI มีรายละเอียดดังนี้
- S: Specific คือ การกำหนดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น ใครบ้างที่มีส่วนร่วมกับเป้าหมายนี้, เป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จคืออะไร, ทำไมถึงต้องบรรลุเป้าหมายนี้ และต้องการบรรลุเป้าหมายนี้เมื่อไร
- M: Measureable คือ การวัดผลได้จริงผ่านเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น จำนวนเท่าไร, ตัวบ่งชี้ว่าความสำเร็จของเป้าหมายนี้คืออะไร และสิ่งที่แสดงถึงความคืบหน้าของเป้าหมาย เป็นต้น
- A: Achievable คือ การตั้งเป้าหมายที่มีโอกาสทำได้จริงผ่านการวิเคราะห์ทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ควรตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาขององค์กร
- R: Realistic คือ ความสมเหตุสมผลของเป้าหมายผ่านการตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานความจริงที่สามารถทำได้จริงและสมเหตุสมผล
- T: Time คือ การกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนเพราะเป้าหมายที่ดีควรมีระยะเวลาสิ้นสุด เพื่อเป็นแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมาย ไม่ควรตั้งระยะเวลานานเกินไปเพราะจะทำให้ขาดแรงจูงใจ แต่ก็ไม่ควรตั้งกระชั้นชิดเกินไปจนไม่มีเวลาเพียงพอในการบรรลุเป้าหมาย
- ระบุแนวทางการวัดผลที่ชัดเจน
สิ่งสำคัญของการตั้ง KPI ในยุค New Normal คือ การระบุแนวทางการวัดผลที่ชัดเจนผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ KPI สำเร็จ โดยแนวทางการวัดผลมีหัวใจหลัก 3 ประการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- กลยุทธ์ คือ หัวใจสำคัญที่นำพาองค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายผ่านการกำหนดกลยุทธ์ในภาพรวม เพื่อให้เห็นแนวทางการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการวัดผลกลยุทธ์จะทำให้ทราบว่า องค์กรกำลังดำเนินตาม KPI มากน้อยแค่ไหน
- กระบวนการ คือ การกำหนดวิธีการที่นำพาไปสู่เป้าหมาย โดยส่วนใหญ่การวัดผลกระบวนการมักใช้หลัก PDCA (Plan-Do-Check-Act) เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นไปตาม KPI อย่างต่อเนื่อง
- ประสิทธิภาพ คือ การวัดผลว่าการดำเนินตามกลยุทธ์และกระบวนการที่ตั้งไว้นั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ใกล้เคียงกับ KPI ที่ตั้งไว้หรือเปล่า ซึ่งประสิทธิภาพสามารถตั้งได้ตามดัชนีการวัดผลที่กล่าวไปข้างต้น เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า และเสียงตอบรับจากการทำงาน เป็นต้น
สรุป
KPI คือ ดัชนีที่วัดความสำเร็จ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถตั้ง KPI ที่แตกต่างกันตามบริบทและวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยการตั้ง KPI จะช่วยให้องค์กรมีแนวทางการบริหารและกระบวนการทำงานที่ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาองค์กรทั้งในเชิงภาพรวมและรายบุคคลอีกด้วย นอกจากนี้ การกำหนด KPI ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งองค์กรและบรรลุผลสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ในท้ายที่สุด
หากสนใจมอบสวัสดิการดีๆ ให้พนักงานในองค์กรของคุณทำงานได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพด้วยแผนประกันสุขภาพและอุบัติเหตุกลุ่มสุดคุ้มของ Cigna อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนประกันกลุ่มจากซิกน่า