
7 วิธีลดอคติในการทำงานให้ทีมทำงานราบรื่นขึ้น
อคติในการทำงาน เป็นปัญหาที่ผู้บริหารและ HR ของทุกองค์กรจำเป็นต้องใส่ใจ เพราะอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพนักงานและองค์กรในระยะยาว การจัดการกับอคติที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรได้นานอีกด้วย
ถ้าอยากรู้ว่าอคติในการทำงานคืออะไร ส่งผลกระทบกับองค์กรอย่างไร และมีวิธีแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง ต้องอ่านบทความนี้

อคติในการทำงานคืออะไร
อคติในการทำงาน คือ ความรู้สึกโน้มเอียงที่มีต่อคุณสมบัติบางอย่างของเพื่อนร่วมงาน เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา สำเนียง ส่วนสูง น้ำหนัก รูปร่าง หน้าตา ระดับการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันหรือระหว่างผู้จัดการกับผู้ใต้บังคับบัญชาก็ได้
อคติเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและคอยชี้นำพฤติกรรมให้แสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสมหรือเกินขอบเขตของบทบาทหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น รวมทั้งขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น จนทำให้ผู้ที่ถูกปฏิบัติด้วยอคติรู้สึกถึงความลำเอียงและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะอคติในการทำงานจากบุคคลระดับผู้จัดการ เนื่องจากมีอำนาจมากพอที่จะสร้างความได้เปรียบตามอำเภอใจโดยที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถตอบโต้ และกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต
ผลกระทบด้านลบของอคติในการทำงาน
เมื่อปี 2017 Harvard Business Review / University of Chicago ได้ศึกษาผลกระทบด้านลบของอคติในการทำงาน โดยสำรวจความคิดเห็นจากพนักงานบริษัทขนาดใหญ่กว่า 1,000 คน พบว่า
- 9.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามรับรู้ถึงอคติในที่ทำงาน
- มีแนวโน้มที่จะไม่รู้สึกภาคภูมิใจในการทำงานให้กับบริษัทมากถึงสองเท่า
- วางแผนที่จะลาออกจากบริษัทภายในหนึ่งปีมากถึงสามเท่า
- รู้สึกแปลกแยกในที่ทำงานมากถึงสี่เท่า
- ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ขาดความสามัคคี
- พลาดโอกาสในการเรียนรู้มุมมอง ความคิดเห็น และข้อมูลเชิงลึกที่หลากหลายจากพนักงาน
- พนักงานที่มีศักยภาพมองไม่เห็นโอกาสเติบโตก้าวหน้าในองค์กร ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานแต่เกิดจากอคติของผู้จัดการ
- Productivity ลดลง เนื่องจากพนักงานที่ได้รับอคติเชิงลบหมดกำลังใจในการทำงาน
- อัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มพนักงานที่สงสัยว่าตนเองกำลังได้รับการปฏิบัติอย่างมีอคติ
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ จากอคติในการทำงาน ได้แก่

7 วิธีลดอคติในการทำงานให้ทีมทำงานราบรื่นขึ้น
ในฐานะผู้บริหารและ HR คุณสามารถเริ่มต้นวางแผนป้องกันและลดผลกระทบด้านลบจากอคติในที่ทำงานได้ตามวิธีการ ดังนี้
- แสดงให้พนักงานเห็นความตั้งใจที่จะลดอคติภายในองค์กร
แจ้งให้พนักงานทุกระดับรับทราบว่า คุณมองเห็นปัญหาและกำลังให้ความสำคัญกับการลดอคติในที่ทำงาน อาจเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบให้แน่ใจว่า พนักงานส่วนใหญ่มีความเข้าใจค่านิยมขององค์กรที่เกี่ยวกับการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายและความเสมอภาคมากน้อยแค่ไหน ถ้าองค์กรของคุณยังไม่มีค่านิยมดังกล่าว ให้บรรจุคำแถลงเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพิ่มเข้าไปพร้อมประกาศให้พนักงานทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตาม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขจัดอคติอย่างจริงจัง
- ตรวจสอบกระบวนการจ้างงานและการเลื่อนตำแหน่งให้มีความโปร่งใส
การตรวจสอบและควบคุมกระบวนการจ้างงานและการเลื่อนตำแหน่งให้มีความโปร่งใสจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงานว่า การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับอนาคตและความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองจะไม่ถูกแทรกแซงจากอคติของผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่าภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ หรือปัจจัยอื่นๆ ก็ตาม
- กำหนดเกณฑ์การประเมินคุณสมบัติและผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
การวางกฎเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนจะช่วยป้องกันอคติที่อาจส่งผลต่อกระบวนการประเมินคุณสมบัติและผลการปฏิบัติงานของพนักงานทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางบริษัทอาจใช้วิธีประเมินแบบ Blind Evaluation คือไม่มีการระบุตัวตนของพนักงานเพื่อป้องกันการใช้ความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผู้ประเมินจะสามารถพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานตามจริงเท่านั้น

- สร้างวัฒนธรรมการแสดงออกอย่างเปิดเผย
การสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานทุกคนกล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย สามารถอภิปรายและให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาอคติในการทำงาน โดยมีผู้บริหารที่พร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่เพียงแต่สร้างความตระหนักและความไว้วางใจในหมู่พนักงาน ยังช่วยตอกย้ำค่านิยมขององค์กรที่สนับสนุนเรื่องความเสมอภาคและการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมด้วย
- เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการประชุม
การมีส่วนร่วมในที่นี้อาจหมายถึงการให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของทุกคน ไม่มองข้ามหรือหลงลืมใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานใหม่หรือพนักงานระดับจูเนียร์ก็ตาม เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมกับการประชุมแต่ละครั้ง นอกจากนี้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้รับฟังและมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีการตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ต่อความคิดเห็นที่คุณอาจไม่เห็นด้วย
- จัดการฝึกอบรมเรื่องอคติในการทำงาน
การฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับทัศนคติที่เป็นต้นตอของอคติในการทำงาน นอกจากจะช่วยปลุกจิตสำนึกและทำให้พนักงานตระหนักถึงพฤติกรรมและผลเสียจากอคติที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับตนเองและองค์กร รวมทั้งยังช่วยให้พนักงานที่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือกำลังเผชิญกับอคติในการทำงานเกิดความเชื่อมั่นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขภายในองค์กรอย่างจริงจัง
- เปิดช่องทางการร้องเรียนแบบไม่เปิดเผยตัวตน
การเปิดช่องทางร้องเรียนแบบไม่เปิดเผยตัวตนจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานกล้ารายงานปัญหาที่เกิดจากอคติในการทำงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตอบโต้หรือเป็นภัยกับตนเองในภายหลัง ทั้งนี้ เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น HR และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความเป็นกลางควรเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากพนักงาน เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและพิจารณาว่ามีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยปกป้องและรักษาพนักงานให้ยังทำงานอยู่ในองค์กรต่อไปได้อย่างราบรื่น
Summary
การลดอคติในการทำงานจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความเข้าใจจากทุกคนในองค์กร ร่วมกับกลยุทธ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ การดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมและโปร่งใสจะช่วยลดผลกระทบด้านลบจากอคติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการนำทั้ง 7 วิธีลดอคติในการทำงานนี้ไปปรับใช้จะช่วยให้การลาออกของพนักงานภายในองค์กรลดลง ส่งผลให้ Productivity เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งและมีความมั่นคงในระยะยาวได้อีกด้วย
หากสนใจมอบสวัสดิการดีๆ ให้พนักงานในองค์กรของคุณทำงานได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพด้วยแผนประกันสุขภาพและอุบัติเหตุกลุ่มสุดคุ้มของ Cigna อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนประกันกลุ่มจากซิกน่า