โรคกระเพาะอาหาร อาการ และวิธีรักษาเบื้องต้น
"โรคกระเพาะอาหาร" (Gastritis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย อาจมีทั้งที่อาการไม่รุนแรง ไปจนถึงมีอาการรุนแรงจนทำให้ต้องหยุดงานหรือพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น หากไม่อยากนั่งทนทรมานเพราะอาการปวดท้อง เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้ให้ดีขึ้นอีกสักนิดกันดีกว่า จะได้ระมัดระวังและดูแลป้องกันตัวเองได้อย่างถูกวิธี
โรคกระเพาะอาหารคืออะไร
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าโรคกระเพาะ เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร เกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดแผล ซึ่งหากละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่รักษา อาจมีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้เป็นแผลทะลุ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร
ในสภาวะปกติภายในกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดสูง ผลิตกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเพื่อช่วยในการย่อยอาหารและฆ่าเชื้อโรคที่ปะปนเข้าไปในอาหาร ขณะเดียวกันก็จะสร้างเมือกที่เป็นเยื่อบุบาง ๆ ช่วยป้องกันผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจากกรด เมื่อกรดที่หลั่งออกมาในกระเพาะอาหารเกิดเสียความสมดุล ก็อาจส่งผลต่อการทำลายเยื่อบุบริเวณกระเพาะอาหารซึ่งมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคที่พบมาก ได้แก่
• การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า H.pylori จากอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน หรือเกิดจากการติดเชื้อจากคนสู่คน โดยเชื้อชนิดนี้คงทนต่อความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารมากกว่าเชื้อชนิดอื่น เมื่อไม่มีการรักษาจึงทำให้เชื้อยังคงอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จนเกิดความระคายเคือง ก่อให้เกิดแผลหรือการอักเสบบริเวณกระเพาะอาหารได้ง่าย
• การรับประทานยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโปรเฟน หรือ ยาไดโคลฟีแนค ซึ่งล้วนเป็นตัวยาที่ต้องกินหลังอาหารทันที สร้างความระคายเคืองให้กับเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้กรดที่หลั่งจากกระเพาะอาหารกัดกร่อนเยื่อบุกระเพาะอาหารจนเกิดแผล
นอกจากนี้การเกิดโรคกระเพาะอาหารยังเป็นผลมาจากพฤติกรรม โรคเรื้อรัง หรือภาวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น
- การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การอดอาหาร
- รับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ
- ดื่มสุราหรือคาเฟอีนในปริมาณมากและการสูบบุหรี่
- มีก้อนเนื้องอกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นได้ทั้งเนื้อดีและเนื้อร้าย
- ภาวะความเครียด ซึ่งเกิดได้จากการประสบอุบัติเหตุรุนแรง การผ่าตัดใหญ่ หรือความเครียดสะสมในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติได้
- การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตชนิดอื่น
- ผู้ที่เป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่พบได้น้อย
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกปวดเฉียบพลันหรือเป็น ๆ หาย ๆ ตั้งแต่ใต้ลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือ อาการปวดอาจดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิมหลังรับประทานอาหาร
- มักมีอาการปวดแสบ จุกแน่น ก่อนหรือหลังมื้ออาหาร เหมือนที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าหิวก็ปวด อิ่มก็ปวด
- อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้ไม่มาก ไม่อยากอาหาร
- เรอบ่อย มีอาการท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
- หากมีแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นมักปวดท้องหลังอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง และจะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย เย็น ตอนดึก อาการจะดีขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร ดื่มนม หรือรับประทานยาลดกรด
หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นมากกว่า 1–2 สัปดาห์ รวมทั้งอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระปนมูกเลือดหรือเป็นสีดำ หรือมีอาการในช่วงการรับประทานยาสามัญในกลุ่มยาแก้ปวด โดยเฉพาะยาแอสไพริน ยาระงับอาการปวดข้อ ปวดกระดูกต่าง ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
วิธีการรักษาและป้องกันเบื้องต้นของโรคกระเพาะอาหาร
การรักษาโรคกระเพาะอาหารนั้นเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เมื่อทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะมาจากสาเหตุใดแพทย์จะสามารถประเมินการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีการรักษาจะมี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่
- การรักษาด้วยยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหากมีการติดเชื้อ โดยแบ่งประเภทของยาที่ใช้รักษาได้หลายกลุ่ม ดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน ยาอะมอกซิซิลลิน
- ยาลดกรด ช่วยให้กรดในกระเพาะอาหารเกิดความสมดุลและช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง
- ยายับยั้งการหลั่งกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ที่มีฤทธิ์หยุดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยากลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ เช่น ยาลดกรด ยาแลนโซพราโซล และ ยาในกลุ่มยับยั้งฮิสตามีนชนิดที่ 2 ที่ไปหยุดการทำงานของเซลล์ในกระเพาะอาหารให้ผลิตกรดลดลง ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง
- ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ที่ช่วยเคลือบเยื่อบุและแผลที่เกิดภายในกระเพาะอาหารจากกรด เช่น ยาซูครัลเฟต หรือยาไมโซพรอสทอล
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารหรือลำไส้
2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น ผ่าตัดกรณีที่มีเนื้องอกในกระเพาะอาหาร, ปรับอาหาร, ออกกำลังกาย
ทั้งนี้การรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคกระเพาะอาหาร คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่อาจปะปนเข้าไปในร่างกาย
- เลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อโรค
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาในปริมาณที่พอดีทุกมื้อ เพื่อให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเป็นไปตามปกติ
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของทอด อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดสูงหรือมีไขมันมาก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย เพื่อลดภาวะความเครียดที่มีส่วนกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มากขึ้น
- ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มบรรเทาอาการปวด โดยเฉพาะยาแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสม
โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคที่ไม่ควรละเลย ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยรับประทานอาหารที่สะอาด ตรงเวลา เป็นต้น ซึ่งหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาอย่างตรงจุดต่อไป และเพื่อความอุ่นใจในการรักษา การมีประกันสุขภาพมิติใหม่จากซิกน่า ที่ครอบคลุมการรักษาโรคกระเพาะอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและหายขาดจากโรคกระเพาะอาหารได้อย่างเด็ดขาดนั่นเอง
อ้างอิงจาก
phyathai.com
แผนประกันแนะนำ

แผนประกัน
สุขภาพมิติใหม่
ประกันสุขภาพมิติใหม่
คุ้มครองโรคกรดไหลย้อน นิ้วล็อค และเบาหวานความดัน สามารถเลือกคุ้มครองเสริมโรคร้ายตามความเสี่ยง

แผนประกันภัย
โรคร้ายแรง
"“โรคร้าย…คุ้มครองครบ”"
”คุ้มครองสูงสุด 1.8 ล้านบาท เงินชดเชยรายได้สูงสุด 1,200 บาท/วัน

แผนประกัน
อุบัติเหตุออนไลน์
"คุ้มครองคูณสาม รับกรมธรรม์ทันที"
ให้ความคุ้มครอง 3 เท่าสูงสุด 6.6 ล้านบาท พร้อมค่ารักษาสูงสุด 60,000 บาท/ครั้ง/อุบัติเหตุ