1.
อาการของ "โรคซึมเศร้า" เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาด้วยตัวเอง
โรคซึมเศร้าภาวะที่คนนับล้านบนโลกกำลังเผชิญ ผู้คนมากกว่า 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% ของประชากรโลกกำลังประสบปัญหานี้ ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน จากสถิติแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าใกล้ตัวเรากว่าที่คิด แต่จะรู้ได้ยังไงว่าเราคือหนึ่งใน 1.5 ล้านคนรึเปล่า และด้วยความห่วงใยจาก Cigna ในบทความนี้จึงนำวิธีสังเกตโรคซึมเศร้าและวิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองมาฝากกัน
โรคซึมเศร้า คืออะไร
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติจากสมองในส่วนของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและร่างกาย ส่วนประกอบเหล่านี้แสดงอาการออกร่วมกัน ปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามีหลายปัจจัยตั้งแต่สภาพแวดล้อมจนถึงสารเคมีในสมอง แต่โรคซึมเศร้าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่เข้าใจก็สามารถรักษาโรคซึมเศร้า และอยู่ร่วมกับความซึมเศร้านี้ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคซึมเศร้า เกิดจากอะไร?
ปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามีด้วยกันหลายปัจจัย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้ามีดังนี้
1.กรรมพันธุ์
สำหรับใครที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิต มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปประมาณ 20% หรือถ้าใครที่มีฝาแฝดเป็นโรคซึมเศร้าคู่แฝดอีกคนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 60-80%
2.สภาพแวดล้อม
สังคมหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ทั้งสภาพแวดล้อมภายในครอบครัวหรือบริบทสังคมในที่ทำงาน ที่มีความกดดันสูง มีโอกาสที่ทำให้ความคิดและพฤติกรรมเปลี่ยน ทำให้เศร้าหรือมีความคิดท้อแท้ น้อยใจตัวเองจนเกิดการซึมเศร้า เป็นต้น
3.ลักษณะนิสัย
หากใครที่มีนิสัยพื้นฐานความคิดชอบมองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย บุคคลเหล่านี้หากเจอเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจ เช่น ตกงาน, หย่าร้างหรือโดนตำหนิบ่อยครั้ง ก็มีโอกาสที่ทำให้พัฒนาความคิดไปสู่โรคซึมเศร้าได้ง่ายมากขึ้น
4.สารเคมีในสมอง
นอกเหนือจากเรื่องจิตใจแล้ว ร่างกายก็มีผลต่อโรคซึมเศร้าเช่นเดียวกัน โดยสารเคมีในสมองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าขึ้นได้ สำหรับสารเคมีที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้า มีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephirne) ความผิดปกติของสารเหล่านี้ทำให้สมดุลในสมองเสียจนนำมาสู่โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า มีกี่แบบ
โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)
สำหรับโรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่นเป็นอาการหลักของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยอาการพื้นฐานคือ ท้อแท้ รู้สึกเศร้า นอนน้อยหรือมากจนเกินไป น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น โดยคนที่เข้าข่ายโรคซึมเศร้าประเภทเป็นคนที่มีอาการซึมเศร้าติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)
โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย เป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น มีอาการเพียง ไม่อยากอาหารหรือกินมากเกินไป นอนหลับน้อยหรือมากเกินไป อ่อนแรงรู้สึกสิ้นหวัง แต่ความรุนแรงของอาการจะน้อยกว่า สำหรับความแตกต่างนอกเหนือจากความรุนแรงของอาการแล้ว ระยะเวลาเป็นส่วนสำคัญโดยคนที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมียจะมีอาการติดต่อกันน้อย 2 ปี ส่วนโรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่นจะมีระยะเวลา 2 สัปดาห์ ขึ้นไป
โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Depression)
สภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยก่อนมีประจำเดือนผู้หญิงบางคนจะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกเศร้า อ่อนไหวง่าย รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีการนอนที่ผิดแปลกไปจากเดิม เป็นต้น โดยโรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือนอาการจะดีขึ้นหลังจากมีประจำเดือน 2-3 วัน
ความเปลี่ยนแปลงสู่โรคซึมเศร้ามีตั้งแต่ค่อยๆแสดงอาการไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ที่มากระทบจิตใจ บุคลิกเดิมจะเปลี่ยนแปลงไป โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเบื้องต้นมีดังนี้
อารมณ์เปลี่ยน
ความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์เริ่มจากบุคลิกเดิมที่เป็นคนร่าเริง โรคซึมเศร้าจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ความรู้สึกที่มีจะหดหู่ เศร้าหมอง ไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร เบื่อหน่าย หรือในบางครั้งอารมณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
ความคิดเปลี่ยน
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนอกจากอารมณ์แล้วคือมุมมองความคิด โดยความคิดในเรื่องต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มุมมองต่อโลกทุกอย่างเริ่มแย่ทั้งสิ่งแวดล้อม คนรอบตัวรวมถึงตัวเอง เริ่มตัดสินใจอะไรได้ยาก ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นภาระต่อผู้อื่นและอาจถึงขั้นคิดจบชีวิตลง
อาการของโรคซึมเศร้า 9 วิธีสังเกตอาการ โรคซึมเศร้า หรือไม่
อาการที่บ่งบอกว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้า มีด้วยกัน 9 อาการโรคซึมเศร้า ซึ่งหากใครที่มีอาการเหล่านี้ครบหรือเกิน 5 ข้อ และมีอาการติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รวมถึงมีความรู้สึกเหล่านี้ตลอดเวลา แสดงว่าคุณมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า
มีความรู้สึกเศร้า เบื่อ หรือหงุดหงิดตลอดทั้งวัน
สนใจในสิ่งรอบตัวหรือกิจกรรมที่เคยชอบน้อยลง
พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงอย่างมาก
นอนไม่หลับหรือหลับมากผิดปกติ
กระวนกระวายหรือเชื่องช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
อ่อนแรง ไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไรเลย
รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า โทษตัวเองในทุกเรื่อง
สมาธิลดลง ใจลอย มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ
คิดเรื่องความตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่บ่อยครั้ง
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า ด้วยตัวเอง
1.รักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา
สาเหตุของโรคซึมเศร้ามาจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ดังนั้นการทานยาจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมองให้ทำงานเป็นปกติ ในระยะแรกยาจะเห็นผลช้า มีผลข้างเคียงมาก แต่เมื่อสารเคมีในสมองปรับตัวแล้ว อาการจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรหยุดทานยาเมื่อรู้สึกดีขึ้น ควรทานติดต่อกัน 6-12 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าซ้ำ
2.รักษาทางจิตใจ
การรักษาทางจิตใจของโรคซึมเศร้าสามารถทำได้หลายรูปแบบดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปรับแนวคิดและพฤติกรรมให้สมดุล หนึ่งในสาเหตุของโรคซึมเศร้ามาจาก ความคิดในเชิงลบเกินกว่าความเป็นจริง ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำการปรับวิธีคิดและพฤติกรรม เป็นอีกวิธีที่ช่วยรักษาโรคซึมเศร้าให้มีอาการดีขึ้น
- ปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หาเพื่อนที่สนิทช่วยปรับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยปรับตัวต่อบริบทรอบตัวได้ดีขึ้น
- การบำบัดจิตเชิงลึก การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอาศัยแพทย์และนักจิตเวช ร่วมกันบำบัดคลายปมที่อยู่ลึกภายในจิตใจของผู้ป่วยอันเป็นที่มาของโรคซึมเศร้า
3.เปลี่ยนโรคซึมเศร้าเป็นพลังบวก
ใครที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ต้องท้อแท้ใจ เพราะโรคนี้สามารถเปลี่ยนความเศร้าให้เป็นพลังได้ เพียงแค่ต้องหาวิธีเรียกพลังที่ซ่อนอยู่ออกมา
4.ปรับความคิดในแง่ร้ายค้นหาความคิดด้านดีที่ซ่อนอยู่
ความคิดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนหมดแรง โดยความคิดในแง่ร้ายมักเป็นตัวการกระตุ้นโรคซึมเศร้าให้ร้ายแรงมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยอย่างเราต้องหาทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนจากคิดเรื่องร้ายๆทั้งวันมาเป็นคิดในแง่ดี หากไม่รู้จะหาความคิดแบบนั้นจากไหน ทางเราแนะนำให้ฟัง podcast สร้างแรงบันดาลใจ หรือหาบทความดีๆ เพื่อกระตุ้นความคิดที่ดีให้ทำงานตลอดทั้งวัน
5.ออกกำลังกายลดซึมเศร้า
การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ โดยโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยหมดแรง ไม่มีเรี่ยวแรงในการใช้ชีวืต ดังนั้นหนามหยอกต้องเอาหนามบ่ง ถึงเวลาลุกขึ้นลองออกกำลังกาย ใช้ร่างกายที่มีแรงอันน้อยนิด ค่อยๆปรับพฤติกรรมทีละนิดจะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ แถมขณะออกกำลังกายร่างกายยังหลั่งสารโดพามีน หรือสารแห่งความสุข ทำให้ลืมความทุกข์ใจได้ชั่วขณะ และสำหรับใครที่สนใจออกกำลังกายแต่ไม่มีเวลาสามารถออกกำลังกายได้ที่ทุกที่เพียง 10 นาที ด้วยท่าบอดี้เวทได้ง่ายๆ ได้ที่นี่
6.หาวิธีคลายเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้นการหากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียด สามารถช่วยลดโรคซึมเศร้าได้ สำหรับใครที่ไม่รู้ว่ากิจกรรมไหนจะช่วยให้คลายเครียดได้ ทางเราแนะนำให้ออกกำลังกาย หรือใช้ดนตรีบำบัด เป็นอีกทางที่ช่วยให้คลายเครียดได้
โรคซึมเศร้าเกิดจากความคิด พฤติกรรมและสารเคมีในสมอง โดยวิธีสำรวจตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าสามารถเช็คได้จากอาการเหล่านี้ เช่น นอนน้อยหรือนอนมากเกินไป, เศร้าตลอดเวลา คิดในแง่ลบ, น้ำหนักเพิ่มหรือลดในเวลาอันรวดเร็ว, รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและคิดถึงเรื่องความตาย ถึงอาการจะเศร้าแต่โรคซึมเศร้าไม่เศร้าอย่างที่คิด เพียงแค่เข้าใจและเรียนรู้ก็สามารถอยู่ร่วมและมีโอกาสหายได้
แผนประกันแนะนำ

แผนประกัน
การเดินทาง
"ซิกน่าประกันการเดินทางต่างประเทศ"
วางแผนเดินทางเลือกซิกน่าไปเป็นเพื่อน เดินทางใกล้หรือไกลอุ่นใจได้

แผนประกัน
อุบัติเหตุออนไลน์
"คุ้มครองคูณสาม รับกรมธรรม์ทันที"
ให้ความคุ้มครอง 3 เท่าสูงสุด 6.6 ล้านบาท พร้อมค่ารักษาสูงสุด 60,000 บาท/ครั้ง/อุบัติเหตุ

แผนประกันภัย
โรคร้ายแรง
"“โรคร้าย…คุ้มครองครบ”"
”คุ้มครองสูงสุด 1.8 ล้านบาท เงินชดเชยรายได้สูงสุด 1,200 บาท/วัน